C H I A N G D A

อำเภอเชียงดาว

อำเภอเชียงดาว อำเภอเชียงดาว หรือเมืองเชียงดาว ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนในประวัติศาสตร์ว่าสร้างมาในยุคใด สมัยใด มีเพียงตามที่ได้กล่าวพาดพิงไว้ในพงศาวดารโยนก ว่าเป็นเมืองที่พระเจ้าเม็งรายมหาวีรกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนาไทย ซึ่งเสวยราชสมบัติในนครเชียงใหม่ ได้ยกเมืองเชียงดาวให้เป็นบำเหน็จความชอบในราชการสงครามแก่เจ้าไชยสงคราม ราชโอรสองค์ที่ 2 เมื่อประมาณ 600 ปีเศษมาแล้วว่า พระเจ้าเม็งรายทราบข่าวจากคนสอดแนมที่สอดแนมเมืองหริภุญชัยว่า พญาเบิกยกทัพจากเขลางค์นครเพื่อตีเมืองหริภุญชัย และเมืองกุมกาม พระเจ้าเม็งรายจึงรับสั่งให้มีการสมโภชพระราชโอรส 7 วัน และสถาปนาเป็นเจ้าไชยสงคราม พระราชทานเครื่องอุปโภค บริโภค อย่างมหาอุปราชให้ไปครองเมืองเชียงราย และยกเมืองเชียงดาวให้เป็นบำเหน็จอีกเมืองหนึ่ง และ “ เจ้าไชยสงครามกับขุนเมืองทั้งหลายต่างทูลเจ้าพระยาเม็งรายกลับคืนไปรักษาเมืองแห่งตน ครั้นเจ้าไชยสงครามกลับไปถึงเมืองเชียงรายแล้ว จึงแต่งขุนช่างทั้งหลายมาแผ้วถางเมืองเชียงดาว สร้างคุ้มวังที่ประทับพร้อมด้วย โรงพล โรงช้าง โรงม้า ฉางข้าว ฉางเหลือบริบูรณ์ทุกอัน ครั้งรุ่งปีก็เสด็จมาประทับอยู่เมืองเชียงดาว ตั้งแต่เดือนหน้าจนถึงเดือนแปด จึงกลับไปเมืองเชียงรายเสมอทุกปี ยามเองเจ้าไชยสงครามมาพักในเมืองเชียงดาวคราวใด ก็เสด็จไปเฝ้าพระราชบิดายังนครพิงค์เชียงใหม่ ปีละครั้งทุกปี



ในระยะตั้งแต่เดือน 9 ถึงเดือน 4 เจ้าไชยสงครามไปพักอยู่เมืองเชียงราย ทางเมืองเชียงดาว ก็ได้มอบให้ภรรยาคนหนึ่งอยู่ควบคุมดูแลแทน ซึ่งในเวลาต่อมา ภรรยาผู้นี้ของพระเจ้าไชยสงครามได้มีเรื่องกับขุนเครื่องราชโอรสองค์ที่ 3 ของเจ้าพระยาเม็งราย เจ้าพระยา เม็งรายจึงเนรเทศไปไว้ที่แคว้นไทยใหญ่ ส่วนทางด้านพวกชาวไทยใหญ่ก็สร้างเมืองถวายประทับเรียกว่า "เมืองนาย" พงศาวดารกล่าวถึง เมืองเชียงดาวอีกว่า ในสมัยพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่ายกกองทัพเข้ามาตั้งอยู่ใน เชียงดาว รอพบทูตจากพระเจ้ามกุฎกษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ ที่ส่งไปเจรจาความเมืองกัน ซึ่งผลสุดท้ายพม่าก็เข้าปกครองอาณาจักรล้านนาไทย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2109 และจากนั้นก็กล่าวถึงเมืองเชียงดาวอีกในคราวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้กรีฑาทัพมาชุมนุมพลที่เมืองเชียงใหม่แล้วเดินทัพจากเมืองเชียงใหม่เข้าตีเมืองอังวะ ก่อนออกจากราชอาณาเขตได้ทรงยั้งทัพที่บ้านเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแบ่งทัพออกเป็น 2 ทัพ คือ ทัพหลวงทรงคุมพลด้วยองค์เอง ออกไปตั้งที่เมืองหางแล้วทรงเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง อีกทัพทรงโปรดเกล้าให้สมเด็จพระเจ้าเอกาทศรถคุมทัพไปทางเมืองฝางเข้าสู่เขตไทยใหญ่ ในพงศาวดารกล่าวถึงเมืองเชียงดาวเป็นครั้งราวแต่ระยะเวลาห่างกันมาก ในช่วงระยะเวลาที่ห่างกันมาก ๆ นี้ทำให้เราไม่สามารถทราบได้ว่ามีใครมาเป็นเจ้าเมืองเชียงดาวบ้างต่อจากเจ้าไชยสงคราม แต่ในตำนานถ้ำหลวงเชียงดาวกล่าวว่า ผู้ครองเมืองเชียงดาวมีนามว่า อนันทราชา เป็นผู้มีความเคารพเลื่อมใสถ้ำหลวงอันศักดิ์สิทธิ์เป็นคนแรก แต่ไม่ได้ก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์ใด ๆ ไว้จึงทำให้ไม่มีหลักฐานว่า อนันทราชาผู้นี้ครองเมืองเชียงดาว ในปี พ.ศ. ใด จากเรื่องราวที่พอจะสืบค้นได้นี้เราพอสรุปได้ว่า เมืองเชียงดาวเป็นเมืองเก่าแก่โบราณเมืองหนึ่ง มีอายุอย่างน้อยที่สุด ประมาณ 706 ปี นับถึง พ.ศ. 2546 นี้ และในช่วงเวลาดังกล่าวนับร้อย ๆ ปีนี้ เมืองเชียงดาวก็คงประสบภัยสงคราม ทำให้เป็นเมืองร้างไปหลายครั้งและอาจก่อตั้งขึ้นมาอีกเป็นหลายครั้ง

เหมือนกับเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองอื่น ๆ จนกระทั่งประมาณ 100 ปี มานี้เอง ซึ่งตรงกับราชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมัยนั้นเป็นสมัยปฏิรูปการปกครองหัวเมืองทั้งฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ โดยทรงจัดให้มีการปกครองในหัวเมืองรอบนอกแบบมณฑลเทศาภิบาล ซึ่งประมาณ พ.ศ. 2442 – 2476 ส่วนกลางมีแบบการปกครองตามอย่างอารยะประเทศ คือตั้งเป็นกระทรวงกลาโหม โดยเลิกล้มสมุหนายก สมุหกลาโหมเสีย หัวเมืองรอบนอกหลาย ๆ เมืองจัดตั้งเป็นมณฑล เมืองเชียงใหม่อยู่ในมณฑลพายัพ แต่ตำแหน่งเข้าเมืองโดยสืบตระกูลกันมา แต่เจ้าผู้ครองนครแต่เดิมนั้นยังมีอยู่ แต่ถูกลดอำนาจบทบาทการปกครองไป โดยทางรัฐบาลกลางส่งข้าหลวงประจำเมืองมาดูแลปกครอง มีข้าราชการตำแหน่งต่าง ๆ มาเป็นผู้ช่วยข้าหลวง ซึ่งเรียกว่า คณะกรรมการการเมืองและได้รับพระราชทานเงินเดือนจากป่าไม้ การค้าขายก็งดไป แต่มีการเก็บภาษีส่งกระทรวงที่กรุงเทพฯ และรัฐบาลก็จัดให้มีเงินเดือน เช่น ข้าราชการแทน “ ครั้นต่อมาจนสมัยรัชกาลที่ 7 ตั้งแต่ พ.ศ. 2469 เป็นต้นมาตำแหน่งเจ้าเมืองใดว่างลงก็ไม่ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งอีกเจ้าเมืองใดยังมีชีวิตอยู่ก็โปรดพระราชทานเงินเดือนเลี้ยงชีพต่อไป ” ครั้นหลัง ปี พ.ศ. 2475 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปฏิรูปการปกครอง หัวเมืองขึ้นโดยมีเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย การจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลก็เลิกไป แต่จัดให้มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคแบ่งเป็น จังหวัด อำเภอ ตำแหน่งผู้ปกครองอำเภอแต่เดิมเป็นตำแหน่งนายแขวง ก็เปลี่ยนมาเป็นตำแหน่งนายอำเภอ เมืองเชียงดาวอยู่ในมณฑลพายัพนายแขวงของอำเภอเชียงดาวซึ่งเป็นนายอำเภอคนแรกในปี พ.ศ. 2452 ก็คือ เจ้าราชบุตร ณ เชียงใหม่ (คือบุตรคนโตของเจ้าเมืองเชียงดาวคนก่อน ไม่ใช่เจ้าราชบุตรเมืองเชียงใหม่)ในสมัยที่เมืองต่าง ๆ มีเจ้าเมืองปกครอง บุตรชายคนโตมักได้ตำแหน่งเจ้าราชบุตร นอกนั้นจะมีตำแหน่งเจ้าราชวงศ์ , เจ้าราชสัมพันธ์ , เจ้าภาคิไนย ถ้าเป็นเมืองใหญ่ อันเป็นราชธานีของอาณาจักร ซึ่งพระยามหากษัตริย์ปกครองนั้น ผู้จะสืบต่อราชสมบัติมักจะได้เป็นเจ้าอุปราช


เมืองเชียงดาวตั้งอยู่ที่ใด ยังไม่มีใครกล้ายืนยันได้ว่า บริเวณเมืองเก่าเชียงดาวตั้งอยู่ที่ใด เพราะไม่มีใครสนใจศึกษาค้นคว้ามาก่อนทั้งนี้เพราะเมืองเชียงดาวเป็นหัวเมืองเล็กขึ้นต่อเมืองเชียงใหม่ ไม่ใช่เป็นเมืองราชธานีแห่งแคว้นอย่างไรก็ตาม มีซากเมืองเก่าอยู่แห่งหนึ่งในท้องที่ตำบลเชียงดาวปัจจุบัน นั่นคือ บริเวณที่เรียกว่า คือสองชั้น (คูสองชั้น) อยู่ทางทิศตะวันตกของถนนโชตนา สายฝาง-เชียงใหม่ ติดกับหมู่บ้านดงเทวีปัจจุบันนี้ พื้นที่ซากเวียงเก่านี้ ชาวบ้านก่อน ๆ เรียกกันว่า เวียงฮ่อ ความจริงแล้วในอาณาจักรคนไทยย่อมไม่มีชนชาติอื่นใดมาตั้งบ้านเมืองเป็นอิสระเอกเทศได้ และอีกประการหนึ่ง เวียงเก่าที่ เรียกว่า เวียงฮ่อ มีอยู่หลายที่เช่นที่อำเภอแม่อาย และในท้องที่จังหวัดเชียงราย และถ้าชื่อเวียงฮ่อ นี้เป็นชื่อที่ถูกต้อง ก็ต้องเป็นชื่อเรียกตามเหตุการณ์เกิดสงคราม เช่นเดียวกับคำว่า เวียงสุทโธ ในท้องที่อำเภอฝาง คือ ค่ายพักทหารพม่า คราวพระเจ้าสุทโธธรรมราชา กษัตริย์พม่ายกทัพมาตีเมืองฝาง และเมืองเชียงใหม่ประมาณปี พ.ศ. 2175 เนินที่ตั้งหน่วยงานทัพพม่านั้นผู้คนเลยเรียก เวียงสุทโธ มาจนทุกวันนี้ ความจริงแล้วไม่มีลักษณะเป็นซากเวียงเก่าเลย ไม่มีคูเหมือนกับซากเวียงเก่า หมู่บ้านดงเทวีเลย ตรงกันข้ามซากเวียงเก่าหมู่บ้านดงเทวีนี้ เป็นลักษณะของตัวเวียงหรือเมืองเก่าจริง ๆ เพราะมีคูเมืองแบบเมืองเชียงใหม่ ดังนั้น ตรงบริเวณนี้น่าจะเป็นเมืองเชียงดาวเก่ามากกว่า

กลับขึ้นด้านบน